นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

รองผู้ว่าฯ กทม.ยัน ‘คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา’ ล้อมวงเสวนาสุดซึ้ง

แผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและประสานเครือข่ายคนไร้บ้านและคนจนเมืองสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม “Homeless Day 2022: คน = คน” โดยมีเสวนา “Homeless ไม่ Hopeless: เสียงสะท้อน ความหวัง อนาคต และชีวิตในภาวะไร้บ้าน” ดำเนินรายการโดย นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ สุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เวลาราว 17.45 น. ที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า ‘คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา’ แต่ปัญหาคือสังคมหรือเมืองที่ทำให้คนรู้สึกว่าไม่น่าอยู่พอ ไม่สามารถทำให้คนมีสวัสดิการหรือสิทธิที่เพียงพอ เราอยู่ในสถานการณ์ที่มีบ้านร้างตึกร้าง แต่ก็ยังมีคนไร้บ้าน เราอยู่ในสถานการณ์ที่มี food waste (ขยะอาหาร) มากมาย แต่บางคนกลับไม่มีอาหารกิน ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นหน้าที่ของ กทม. ที่จะต้องร่วมบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่ต้องปลดล็อกกฎหมาย หรือ ประชาสังคม มูลนิธิต่างๆ ร่วมผลักดันกัน

“เราต้องทำให้ทุกคนรู้ว่าคนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา แต่สังคมที่เราอยู่ร่วมกันสร้างปัญหาที่ทำให้เกิดคนไร้บ้านขึ้น เราต้องช่วยกันมากกว่านี้ ผู้ประกอบการหลายคนขาดแรงงาน​ แต่เราก็ยังมีคนว่างงานและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงานได้ นั่นคือข้อบ่งชี้ว่าการบริหารจัดการยังไม่มีประสิทธิภาพ​ และเป็นหน้าที่ของกทม.ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณาการร่วมกับภาครัฐและภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ​ การปลดล็อคกฎหมายบางอย่าง รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆในการสร้างความเข้าใจกับสังคมว่า​ คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา แต่สังคมต่างหากที่สร้างปัญหาบางอย่างทำให้เกิดคนไร้บ้าน ซึ่งเราต้องร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาให้มากกว่านี้” นายศานนท์กล่าว

นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการ “จ้างวานข้า” มูลนิธิกระจกเงา กล่าวถึงที่มาของโครงการดังกล่าว ว่า จุดเริ่มต้นมาจากโครงการ Food for Friend จากนั้น เมื่อได้รู้จักคนไร้บ้าน พบว่าสิ่งที่พวกเขาถามถึง รองจากอาหารคืองาน จึงคิดว่าสิ่งนี้สิ่งสำคัญต่อคนไร้บ้าน โดยจะช่วยยกระดับจากคนไร้บ้านให้เป็นคนที่มีบ้านได้ จึงนำไปสู่โครงการจ้างวานข้า เรื่องนี้เป็นมิติเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะทำให้พวกเขาได้ตัดสินใจว่าจะอยู่ไร้บ้านต่อหรือได้มีที่อยู่อาศัยต่อไป

จากนั้น ‘อดุล’ ผู้เข้าร่วมโครงการจ้างวานข้า กล่าวว่า ชีวิตตนก่อนหน้านี้เป็นคนเร่ร่อน บางวันไม่มีจะกิน ช่วงโควิดงานหาทำยาก จึงต้องอาศัยนอนตามสถานีรถไฟ แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการจ้างวานข้า จากชีวิต 0 ตอนนี้ 8-10 แล้ว ปัจจุบันมีที่อยู่อาศัยจากโครงการจ้างวานข้า มีงานทำ ปัจจุบันเช่าที่อยู่อาศัยราคา 1,500 บาท ที่เหลือ เก็บไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน และรับงานเสริมเพิ่มเติม

เสวนา “Homeless ไม่ Hopeless: เสียงสะท้อน ความหวัง อนาคต และชีวิตในภาวะไร้บ้าน”

นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยว่า ได้พยามคลุกคลีกับคนกลุ่มนี้ เพื่อหาข้อมูลให้ได้ว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร จนนำไปสู่โครงการต่าง ๆ เช่น แบ่งปันอาหาร ทุกข์ปันสุข การพาเข้าสู่สิทธิการรักษา ขับเคลื่อนกฎหมายให้เกิด พรบ. การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ปี พ.ศ. 2557

“เราพบว่าเมื่อเราส่งกลับบ้านหรือคืนสู่สังคมเขาไม่สามารถอยู่ในชุมชนได้ และ ท่องถิ่นไม่สามารถเอางบประมาณมาดูแลได้ ทั้งที่เขาน่าจะอยู่ในชุมชนได้หรือท้องถิ่นของเขาได้ เราจะทำอย่างไรให้เกิดระบบหรือช่องทางที่จะดูแลเขาได้ ไม่ใช่แค่เราทำให้เขาอย่างเดียว แต่อยากให้เขาได้พัฒนาช่วยเหลือตัวเองด้วย นั่นคือสิ่งที่มูลนิธิอิสรชนพยายามทำ” นางอัจฉรากล่าว

ด้านนายสมพร หารพรม จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ทางมูลนิธิเน้นให้พี่น้องคนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างที่อยู่อาศัย ซึ่งจะทำให้ได้หวนกลับไปคิดว่าจะไปต่อกับชีวิตอย่างไร

“เราได้พยายามรวมกลุ่มเขา เพื่อมาพูดคุยถึงปัญหาว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งในช่วงโควิดเราได้ลงพื้นที่พบพี่น้องคนไร้บ้าน เราทราบว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาป้องกันได้ จึงนำไปสู่การผลักดันให้เกิดจุดประสานงานสาธารณะ ไม่ใช่แค่ใน กทม. อย่างเดียวแต่เราทำในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย ซึ่งจากเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างเดียวไม่พอ เรื่องงานก็เป็นสิ่งที่ตามมา จึงนำไปสู่การคิดร่วมกันแล้วเกิดเป็นโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง โดยเราเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ 10 กว่าคน จนตอนนี้เรามีสมาชิกประมาณ 40 คน เกือบ 20 ห้อง คาดว่าถ้าเราทำให้พี่น้องออกจากที่สาธารณะตั้งหลักชีวิตได้เราจะขยับไปต่อ เพียงแต่ก็ต้องไปรับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กทม. หรือ กระทรวงการพัฒนาสังคม ซึ่งคิดว่าถ้ามีนโยบายที่อยู่อาศัยราคาถูกจะเป็นแก้ปัญหาให้ไม่หลุดมาเป็นคนไร้บ้าน และ ช่วยเหลือทั้งคนไร้บ้าน และ กลุ่มเปราะบางต่างๆ เช่นกัน” นายสมพรกล่าว

นางณภัทร เสนาะพิณ เครือข่ายคนไร้บ้านหัวลำโพง กล่าวว่า ความต้องการของพี่น้องคนไร้บ้านแต่ละคนอยากมีที่อยู่อาศัยอยากมีงาน จึงเกิดเป็นโครงการ ‘ห้องเช่าคนละครึ่ง’ เริ่มจาก 10 คนแรก นำไปสู่โครงการแต่ละเฟส ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 40 คน 5 เฟส และจะมีเฟสที่ 6 ในเดือนหน้านี้

“พี่น้องเรา (คนไร้บ้าน) จากที่ไม่เคยมีงานหรือเงินเลย ตอนนี้ได้มีงานมีรายได้เป็นเดือนประจำ และได้รับการตอบรับที่ดีจากนายจ้าง” นางณภัทรกล่าว

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผ่านมาก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อคนเปราะบางในเขตเมืองเป็นอย่างมาก ทั้งภาวะตกงาน การขาดความมั่นคงทางรายได้ รายได้ครัวเรือนลดน้อยลง ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการ การขาดตาข่ายปลอดภัยทางสังคม และการไม่มีเครือข่ายทางสังคมในการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน คนจนเมืองหรือประชากรกลุ่มเปราะบางทางด้านที่อยู่อาศัยนั้นประสบปัญหาทั้งในเรื่องแผนผังเมืองที่ไม่รองรับ เช่น กระบวนการทำให้เป็นเมืองที่ทำให้เกิดการไล่ที่ หรือการเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยที่สวนทางกับรายได้ และเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่

กลุ่มคนเปราะบางก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกมาเป็นคนไร้บ้านมากยิ่งขึ้น และกลุ่มคนที่เปราะบางมากก็หลุดออกมาเป็นคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นนั้นพบว่ามีอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ดังนั้นการสร้างตาข่ายปลอดภัยทางสังคมที่ช่วยป้องกันไม่ให้กลุ่มคนเปราะบางกลายเป็นคนไร้บ้านหรือการสร้างความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย จึงเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น แผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงมีการจัดงานเพื่อสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจในประเด็นคนไร้บ้านให้แก่สังคม และหารือในประเด็นความท้าทายของสถานการณ์คนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครและประเทศไทย ที่เชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนความไม่เท่าทันของการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และแนวทางการแก้ไขปัญหาบนความร่วมมือหลายภาคส่วนอันจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย และตาข่ายปลอดภัยทางสังคมที่จะช่วยรองรับคนไร้บ้านและคนเปราะบางในเขตเมืองต่อไป

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ woofyproductions.com

ufa slot

Releated